BOI เล็งต่อแพคเกจ EV รับผู้ผลิตหน้าใหม่ พร้อมเดินหน้าคุย TESLA ปรึกษาแนวทางลงทุน

BOI เล็งต่อแพคเกจ EV รับผู้ผลิตหน้าใหม่ พร้อมเดินหน้าคุย TESLA ปรึกษาแนวทางลงทุน

BOI หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เตรียมแผนต่อแพคเกจลงทุน EV สำหรับผู้ผลิตรายใหม่ที่ต้องการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้า

หลังจากที่ BOI ได้เคยออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าไปและสิ้นสุดการขอรับการสนับสนุนการลงทุนไปเมื่อปี 2562 โดยในครั้งนั้นได้มีผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้ขอรับการสนับสนุนการผลิตไปแล้ว และเริ่มสายการผลิตไปแล้วบางส่วน

ทาง BOI จึงได้ออกแผนสนับสนุนการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้ารอบใหม่สำหรับผู้ผลิตหน้าใหม่ ซึ่งเครื่องมือในการสนับสนุนการลงทุนยังคงเป็นสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนิติบุคคล 8 ปีเช่นเดิม แต่จะมีความครอบคลุมยานยนต์ไฟฟ้าในหมวดเพิ่มเติมของ
1. ยานยนต์ไฟฟ้า 2 ล้อ
2. ยานยนต์ไฟฟ้า 3 ล้อ
3. ยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ (รถเมล์ และยานยนต์อื่นๆในหมวดเดียวกัน )
4. เรือไฟฟ้า

    ในบรรดาผู้ผลิตรายใหม่ที่มีความต้องการนโยบายสนับสนุนหลักคือ Great Wall Motor ที่ประกาศความต้องการอย่างชัดเจนว่า มีแผนที่จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตหลักสำหรับไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงทางเกรทวอลล์ ยังได้ลงทุนในประเทศไทยไปแล้วกว่า 22,600 ล้านบาท และจะใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศกว่า 45% เพื่อผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องสันดาปภายในปกติ

    ล่าสุดมีข้อมูลกล่าวว่าทาง Great Wall มีแผนงานอย่างชัดเจนว่าจะมีแผนการนำยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ภายในปี 2564 นี้ เพื่อเป็นการลองตลาดเพื่อทราบถึงความต้องการของตลาด สำหรับการเตรียมแผนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ BEV (Battery Electric Vehicle) ในประเทศไทยต่อไปให้เร็วที่สุด

    นอกจาก Great Wall Motor แล้วนั้น ยังมีอีก 1 บริษัทที่ให้ความสนใจกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าไทย "TESLA" 1 ในผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐ ได้ทำการติดต่อมาทางประเทศไทยเพื่อขอรับทราบนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย ซึ่งล่าสุด ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเตรียมการในประชุมคอนเฟอเรนซ์กับทาง TESLA เพื่อปรึกษาแนวทางการลงทุนในประเทศไทย

    "ทั้งนี้ ในการประชุมบอร์ดยานยนต์ไฟฟ้านั้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังคงเดินหน้าเพื่อผลักดันมาตรการนี้ โดยหวังว่าภายใน 5 ปี ไทยจะมีรถ EV คิดเป็น 30% ของปริมาณผลิต 2.5 ล้านคัน ต่อปี หรือ 750,000 คัน จึงยังต้องเร่งสร้างตลาดในประเทศ

    โดยระยะเร่งด่วนที่จะเริ่มจากการส่งเสริมวินสะอาด หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง EV นำร่องก่อน เป้าหมาย 53,000 คัน ในปี 2563-2565 รวมถึงส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศไทยและประชาชนให้เข้าถึง EV (smart city bus) ให้ได้ 5,000 คัน ใน 5 ปีข้างหน้า"

[ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-548013]

ในปัจจุบันมีหน่วยงานของไทยที่รับผิดชอบในด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

1. BOI (Board Of Investment) หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนรับผิดชอบหน้าที่ในการออกนโยบายและสนับสนุนในส่วนของ Supply หรือผู้ผลิต

2. กระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้คณะกรรมการนโยบายพลังงานยานยนต์ไฟฟ้าแห่ง รับผิดชอบหน้าที่ในการดูแลฝั่งของ Demand หรือผู้ซื้อในตลาด

    ซึ่งภาพรวมของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยปัจจุบันมีการเติบโตจากปี 2019 ในระดับที่สูงมากขึ้น กอปรกับผู้ผลิตที่ได้รับการส่งเสริมนโยบายการลงทุนจาก BOI บางเจ้าเริ่มผลิตเรียบร้อยแล้ว อาทิ
1. ยานยนต์ไฟฟ้าแบบ PHEV (Plug-In Hybrid)
ปัจจุบันมี Benz และ BMW ที่เริ่มทำการผลิตและส่งมอบให้กับลูกค้าภายในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว
2. ยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV (Battery Electric Vehicle)
ปัจจุบันมีเพียงบริษัท FOMM Asia ที่ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารุ่น FOMM One เป็นยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กตามมาตรฐาน L7E ของยุโรป เพียงบริษัทเดียวที่เข้าสู่ตลาดเรียบร้อย

ส่วนทางด้านของ Benz ที่มีแผนผลิต/ประกอบยานยนต์ไฟฟ้าตระกูล Benz EQC ยังอยู่ระหว่างเจรจากับทาง BOI เพื่อขอปรับเพิ่มตัวเลขการนำเข้ามาทำตลาดเบื้องต้นอยู่

เขียน และเรียบเรียงโดย : Thailand Development Report
[เนื้อหา การเขียน และเรียบเรียงถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเพจ Thailand Development Report ไม่อนญาตให้ทำการคัดลอก หรือเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต]

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เปิดสเปคและข้อมูล ORA Goodcat ยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกในไทยจาก GreatWall Motor

มจพ.ตั้ง NBSpace จับมือเดนมาร์ก สร้างฐานอุตสาหกรรมดาวเทียมไทยป้อนตลาดโลก

บริษัท SSC บริษัทอวกาศระดับโลก เปิดตัว SSC Space Thailand ในประเทศไทย