เปิดตัว “AI for All” เจาะทุกกลุ่มเป้าหมาย มุ่งสร้างองค์ความรู้ด้าน AI ผ่าน 5 โครงการสำคัญ
เปิดตัว “AI for All” เจาะทุกกลุ่มเป้าหมาย มุ่งสร้างองค์ความรู้ด้าน AI ผ่าน 5 โครงการสำคัญ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโนบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว โครงการ “AI for All” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นถึงความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของกำลังคนในประเทศให้สามารถนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ไปประยุกต์ใช้ได้
โดยภายใต้โครงการ AI For ALL ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 5 โครงการสำคัญ ได้แก่
1) โครงการ AI ไทยสามารถ เป็นโครงการที่สร้างกระแสความสนใจ ความรู้ และความเข้าใจเรื่องปัญญาประดิษฐ์เบื้องต้น สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้จักหรือยังไม่เข้าใจ ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
2) โครงการ AI@School เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้มีความรู้และความเข้าใจพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ดำเนินการโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
3) โครงการ Super AI Engineer เป็นโครงการพัฒนานวัตกร/วิศวกร/นักวิจัย/วิสาหกิจเริ่มต้น ด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อป้อนเข้าสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ดำเนินการโดย สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4) โครงการ AI/ROBOTICS FOR ALL เป็นโครงการเพื่อพัฒนานวัตกร/นักวิจัย/วิศวกร/วิสาหกิจเริ่มต้น ให้เกิดความตระหนัก และมีความรู้ความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ ดำเนินการโดย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
5) โครงการ SMART Agricultural Robot Contest 2020 เป็นโครงการส่งเสริมให้นิสิต/นักศึกษาพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เพื่อแก้ปัญหาจากภาคการเกษตร และต่อยอดผลงานเข้าสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย
“ปัจจุบันทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการนำเอาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ เพื่อเสริมศักยภาพในการทำงานภายในองค์กร จนเรียกได้ว่า AI ได้กลายมาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญ แต่ก็ต้องยอมรับว่า เมื่อ AI เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตในแง่ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อการจ้างงานในอนาคต ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมทุกด้าน โดยในส่วนของภาครัฐเองได้มีการบูรณาการร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI แก่ประชาชน ผ่านโครงการ AI For All ซึ่ง จะมีการดำเนินการใน 5 โครงการสำคัญ ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ รวมไปถึงชุมชนและสังคม เป็นการเตรียมกำลังคนให้พร้อมรับกับยุคของ AI อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต"
อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (ดีจีเอ) ได้ใช้สำนักงานดีจีเอ ในซอยรางน้ำเป็นศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐเพื่อรัฐบาลดิจิทัล เพื่อเป็นศูนย์ในการให้คำปรึกษา พัฒนา และส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐเข้าใจการนำเทคโนโลยีเอไอ มาประยุกต์ใช้กับงานภาครัฐ เพื่อให้บริการกับหน่วยงานราชการและประชาชน ผ่านการสร้างระบบนิเวศของเทคโนโลยี AI ให้มีความพร้อมในด้านการนำมาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี ความรู้ ตลอดจนการสร้างบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ AI สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานหลายด้าน เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ภาครัฐ ข้อมูลทางการเงิน การคลัง ข้อมูลการใช้จ่ายเงินงบประมาณและข้อมูลของการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการประเมินเครดิต (Credit Scoring) ด้วยความสามารถในการประมวลผลด้วยเทคโนโลยีอันชาญฉลาดจะช่วยทำให้การวิเคราะห์และประเมินผลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้งานด้านการตรวจสอบสามารถดำเนินการได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการป้องกันการทุจริต ส่งเสริมความโปร่งใส
การมีศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐจะช่วยให้พันธกิจในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่องานภาครัฐมีประสิทธิภาพและทิศทางพัฒนาสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ยกระดับการบริหารจัดการระบบงานและบริการภาครัฐ อันจะนำไปสู่ประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป
.
#TDR
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น